เมื่อหัวถึงหมอน หลายคนอาจจะคิดว่าร่างกายกำลังเข้าสู่โหมดการชาร์จพลังเพื่อพักผ่อน แต่ใครจะรู้ว่าในช่วงที่เรานอนหลับบนที่นอน บางทีอาจมีปัญหาเกิดขึ้นและสามารถส่งผลเสียกับร่างกายขณะหลับได้ เราอยากชวนทุกคนมาลองสำรวจตัวเองกันผ่าน NON 101 : บทนอนพื้นฐานที่ควรรู้ ดูว่า กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนแบบไม่รู้ตัวอยู่รึเปล่า?
นอนหลับช้า
สำหรับคนที่มีอาการทิ้งตัวลงบนที่นอน กลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ 30 นาทีแล้วก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหลับ และเป็นแบบนี้มากกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ นี่คืออาการที่บอกว่า ร่างกายเราเริ่มผิดปกติแล้วล่ะครับ ถ้าเกิดแบบนี้ขึ้นและหายไปเองในช่วง 1 เดือน อาจเกิดจากความเครียดที่ส่งผลมาจากสถานการณ์ที่เรากำลังประสบอยู่ แต่ถ้าสถานการณ์นั้นคลี่คลายลง เราก็ยังนอนไม่หลับ ถึงเวลาไปปรึกษาคุณหมอแล้วล่ะ
หยุดหายใจระหว่างนอน
การหายใจในช่วงเวลาที่เรานอนหลับก็เป็นสิ่งสำคัญ บางคนอาจมีหยุดหายใจระหว่างนอนแบบไม่รู้ตัว ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ว่าเข้าข่ายหรือเปล่า จากอาการเบื้องต้นเหล่านี้ครับ
- นอนกรน
- ตื่นขึ้นมาเพราะหายใจแรง, สำลัก หรือหายใจติดๆ ขัดๆ
- นอนไม่หลับ ตื่นตอนกลางดึก
- รู้สึกเจ็บคอ คอแห้ง และปากแห้งเมื่อตื่นนอน
- ง่วงนอน หรือรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียมากในเวลากลางวัน
อาการหยุดหายใจระหว่างนอน อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดโรคในร่างกายได้อีกมากมาย หากใครพบว่าตัวเองอยู่ในภาวะเสี่ยง ก็สามารถเข้าไปปรึกษาและตรวจเช็คกับคุณหมอได้เลยครับ ยิ่งรู้ก่อน ยิ่งช่วยให้รักษา และปรับพฤติกรรมได้ทันเวลานะ
ขากระตุกตอนนอน
เคยสังเกตตัวเองหรือมีคนข้างๆ บอกมั้ยว่า เรามีอาการขากระตุกตอนนอนหลับ (Hypnic Jerk) หรือเปล่า? ซึ่งอาการนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เราหลับตื้นจนถึงหลับลึก โดยกล้ามเนื้อขาจะเกิดการกระตุกซ้ำๆ เป็นจังหวะในช่วงเวลาหนึ่ง เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ก็อาจทำให้ตื่นขึ้นมากลางดึกได้ อาการนี้อาจส่งผลให้เรารู้สึกเหนื่อยหรือไม่สบายตัว และส่งผลต่อการใช้ชีวิตในเวลากลางวัน ภาวะนี้สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบมากในวัยกลางคนและวัยชรา
ละเมอเดิน
เชื่อว่าตอนเด็กๆ หลายคนเคยละเมอพูด ละเมอร้อง หรือถึงขั้นละเมอเดินแบบไม่รู้ตัว จนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายๆ หากตอนนี้ยังมีอาการละเมอแบบนั้นอยู่ มันเป็นตัวส่งสัญญาณบอกถึงคุณภาพการนอนในทางที่ไม่ดีนัก โดยอาการละเมอเกิดจากคลื่นไฟฟ้าแบบตื่นเข้ามาเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันในสมองตอนที่หลับลึก ส่วนใหญ่แล้วลูปการนอนของคนเราจะหลับลึกเป็นรอบๆ ทำให้อาการละเมอไม่ควรเกิดขึ้นเกิน 1-2 ครั้ง/คืน จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่อาการละเมอสามารถเกิดได้ถี่ขึ้นถ้ามีตัวกระตุ้นอย่างความเครียด โรคบางอย่างที่ทำให้การนอนหลับไม่ดี ส่งผลกระทบให้เกิดความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นนั่นเอง
การป้องกันเรื่องที่ไม่รู้ตอนนอน สามารถทำได้โดยการสร้างนิสัยการนอนที่ดี นอนหลับให้เพียงพอ เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา เพื่อคุณภาพการนอนที่ดี รวมถึงการรักษาบรรยากาศในพื้นที่ห้องนอนให้เหมาะกับการนอน เปลี่ยนที่นอนเก่า ไม่เอางานมาทำบนที่นอน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนนะครับ
ก่อนนอนคืนนี้ อย่าลืมสังเกตอาการนอนหลับของตัวเองกันนะครับ หรือถ้าใครมีคนที่นอนข้างๆ ลองช่วยกันสังเกตอาการการนอนหลับของกันและกัน ว่ายังอยู่ในภาวะปกติหรือเปล่า เพื่อให้การนอนของคุณในแต่ละคืนมีประสิทธิภาพ ช่วยชาร์จแบตเติมพลังให้กับร่างกาย และช่วยให้เราได้รับความสุขจากการนอนอย่างแท้จริง